การจัดการสิ่งแวดล้อม

การบริหารจัดการธุรกิจสหโคเจน ได้ยึดหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมาตรการการดำเนินงานที่กำหนดไว้ตามกรอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ EIA ที่โรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี) และ การประเมินผลกระทบเบื้องต้นมาตรการ (Initial Environmental Examination) หรือ IEE ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลสหโคเจน กรีน และโรงไฟฟ้าชีวมวลสหกรีน ฟอเรสท์ โดยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและจัดส่งรายงานผลการดำเนินงาน เป็นประจำต่อเนื่องทุก 6 เดือน นอกจากนี้ยังได้กำหนดนโยบายในการดำเนินงานตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยปฏิบัติอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด

กลุ่มสหโคเจน ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การนำน้ำมาใช้ในกระบวนการผลิต การรักษาสภาพแวดล้อมภายหลังจากกระบวนการผลิต จึงกำหนดมาตการในการจัดการน้ำโดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำของชุมชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงหน้าที่ในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ในภาวะการขาดแคลนน้ำ โดยมีการจัดการ ดังนี้

– โรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี) และโรงไฟฟ้าชีวมวสหโคเจน กรีน ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ นำน้ำจากแหล่งน้ำที่ได้จัดสรรไวเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโดยมีปริมาณแหล่งน้ำสำรองที่เพียงพอต่อการผลิต และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของชุมชน น้ำที่ออกจากกระบวนการผลิต จะถูกส่งไปยัง บ่อปรับสภาพ (Neutralization Basin) เพื่อปรับคุณภาพ และน้ำที่ออกจาก Neutralization Basin จะถูกส่งต่อไปยังบ่อบำบัดน้ำเสียของสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เพื่อนำน้ำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ และน้ำส่วนที่เหลือจึงปล่อยออกสู่แหล่งน้ำภายนอก โดยน้ำที่ปล่อยออกจากระบบหล่อเย็นมีค่าอุณหภูมิน้ำ ณ จุดปล่อย อยู่ภายใต้เกณฑ์ตามกฎหมายที่กำหนดให้ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส

นอกจากนั้นที่โรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี) ได้จัดทำโครงการ RO Rejected Water Recycle เพื่อนำน้ำที่ออกจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านกระบวนปรับสภาพน้ำด้วยระบบ RO Water Recycle ช่วยประหยัดน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและลดค่าใช้จ่ายน้ำทิ้งได้อีกทางหนึ่ง

– โรงไฟฟ้าชีวมวล สหกรีน ฟอเรสท์ จัดสร้างบ่อเก็บน้ำในพื้นที่โครงการบนเนื้อที่ 40 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 370,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพียงพอต่อการใช้ผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าได้ทั้งปี อันประกอบด้วยบ่อรับน้ำแยกตะกอนและบ่อเก็บน้ำหลัก ทำให้น้ำดิบที่เก็บกักมีปริมาณตะกอนต่ำและคุณภาพคงที่ ช่วยลดการใช้สารเคมีและปริมาณน้ำทิ้งในกระบวนการผลิตน้ำของโรงไฟฟ้าลง นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ยืนต้นทรงพุ่มหนาหรือ Green Belt รอบพื้นที่เก็บกักน้ำเป็นแนวกำบังลมช่วยลดการสูญเสียน้ำและรองรับการใช้ประโยชน์น้ำที่เหลือทิ้งจากระบบการผลิตของโรงไฟฟ้า โดยไม่รบกวนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชน น้ำที่ออกจากกระบวนการผลิตจะถูกปล่อยลงบ่อพักน้ำ (Sewage Water Holding pond) เพื่อปรับลดอุณหภูมิและปรับสภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ก่อนนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในพื้นที่สีเขียวของบริษัท โดยไม่มีการปล่อยทิ้งสู่ภายนอกตามโครงการ Zero Discharge

นอกจากนี้ยังดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำและอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งติดตามตรวจสอบระบบนิเวศทางน้ำบริเวณโรงไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ

ดำเนินการตามมาตรการจัดการด้านมลภาวะทางอากาศตามกำหนดกฏหมายอย่างเคร่งครัด  โดยติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณปลายปล่องระบายอากาศ (Stack) เพื่อตรวจวัดปริมาณมลสารที่ระบายออกสู่อากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองรวม (TSP) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) โดยผลการตรวจวัดปริมาณมลสารทั้ง 3 ชนิด มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงาน โดยติดตามผลและจัดทำรายงานการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงต่อชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและควบคุมผลกระทบด้านคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กฏหมายกำหนดอย่างเข้มงวด รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองแบบไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic Precipitator : ESP) ที่มีประสิทธิภาพในการแยกฝุ่นละอองจากไอเสียมากกว่าร้อยละ 99.5 ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลสหโคเจน กรีน และโรงไฟฟ้าชีวมวลสหกรีน ฟอเรสท์ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านฝุ่นละอองในอากาศที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้า ทำให้อากาศที่ปล่อยออกจากปล่องมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

– ออกแบบและติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ และวางแผนการตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดเสียงดังอย่างเหมาะสม รวมถึงมีการปลูกต้นไม้ทรงสูง พุ่มหนา เพื่อกรองเสียงและเป็นแนวกันลม ทำให้สามารถควบคุมระดับเสียงได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

– กำหนดจุดตรวจวัดระดับเสียงจำนวน 3 จุด ได้แก่ ณ จุดกำเนิดเสียงภายในโรงไฟฟ้า ห้องควบคุมการผลิตในโรงไฟฟ้า และบริเวณแนวรั้วโรงไฟฟ้า โดยควบคุมระดับเสียง ให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมถึงดำเนินการตรวจวัดความดังของเสียงในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นประจำทุก 3 เดือน

– จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันผลกระทบด้านเสียง หรือ Ear muffs ให้พนักงานสวมใส่เมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในบริเวณที่มีเสียงดัง เกิน 80 เดซิเบลเอ หากผู้ปฏิบัติงานจะต้องปฏิบัติงานในจุดดังกล่าว จะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครอง ความปลอดภัยส่วนบุคคล เพื่อลดความดังของเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับ โดยได้มีการติดตั้ง ป้ายเตือนและกำหนดเป็นข้อบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

กลุ่มสหโคเจน ดำเนินการจัดการกากของเสียตามมาตรฐานที่กฎหมาย และมาตรการของแต่ละโรงไฟฟ้า โดยแยกกำจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ของเสียอันตราย และของเสียไม่อันตราย ดำเนินการจัดการ ดังต่อไปนี้

  1. ของเสียอันตราย คือ ขยะที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันหม้อแปลง น้ำมันเครื่อง ถังสารเคมี ฯลฯ ดำเนินการโดยควบคุมปริมาณการใช้น้ำมันหม้อแปลงที่ไม่มีสารอันตราย และควบคุมการกำจัดของเสียเหล่านี้ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ได้ดำเนินการส่งกำจัดอย่างถูกวิธีโดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  2. ของเสียที่ไม่อันตราย คือ ขยะเหมือนกับขยะจากบ้านเรือนทั่วไป เช่น เศษอาหาร ไม้ กระดาษ สายไฟ ถุงพลาสติก วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ กำหนดมาตรการในการคัดแยก ก่อนส่งไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล หรือนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเหมาะสม โดยจัดตั้งโครงการธนาคารขยะเพื่อปลูกจิตสำนึกพร้อมทั้งกระตุ้นให้พนักงานทุกคนคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้ เถ้าชีวมวลที่ได้จากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวลสหโคเจน กรีน และโรงไฟฟ้าชีวมวลสหกรีน ฟอเรสท์ ได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการผลิตอิฐบล๊อก เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชนผ่านโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทถือเป็นการเพิ่มมูลค่าจากของเหลือใช้ประเภทไม่อันตรายให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เถ้าชีวมวล เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าชีวมวล มีคุณสมบัติเป็นด่างและมีส่วนผสมของธาตุอาหารที่พืชต้องการ จึงเหมาะกับการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ซึ่งมีผู้สนใจนำเถ้าชีวมวลไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ กลุ่มผู้ทำนาข้าว กลุ่มสวนลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ เถ้าชีวมวล” ยังมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับนำไปใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐมวลเบา หรืออิฐบล็อก ทั้งนี้บริษัทได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์เถ้าชีวมวลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 – ปัจจุบัน

บริษัทได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการใช้ประโยชน์เถ้าชีวมวลให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน การฝึกอบรมและการศึกษาดูงาน อาทิ การผลิตอิฐบล็อกจากเถ้าชีวมวล วัสดุผสมดินปลูกและวัสดุปรับปรุงดินจากเถ้าชีวมวล โครงการประชารัฐร่วมใจ สอนน้องปลูกผักสวนครัว เป็นต้น

  • เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสาธิตการใช้ประโยชน์จากเถ้าชีวมวลให้กับครูและนักเรียนของโรงเรียนสำหรับต่อยอดและพัฒนานำเถ้าชีวมวลไปใช้ทำวัสดุปรับปรุงดินสำหรับการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยมีเป้าหมายจัดกิจกรรมปีละ 1 ครั้ง ในพื้นที่โรงเรียนรอบสถานประกอบกิจการ

ในปี 2562 บริษัทฯ จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2   ณ โรงเรียนวัดป่าแดด หมู่ที่ 2 ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมีครู และนักเรียน รวมถึงสมาชิกชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดลำพูนและพนักงานบริษัทร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน

            ผลการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทสนับสนุนเถ้าชีวมวลสำหรับใช้ในโครงการปลูกผักสวนครัวให้กับโรงเรียนจำนวน 3 โรงเรียน และ 2 หน่วยงาน จำนวนรวมกว่า 45,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 25,000 บาท กิจกรรมดังกล่าวช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยบำรุงดินและลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

โครงการธนาคารขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้พนักงานตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยรณรงค์ให้พนักงานคัดแยกขยะทั้งในสำนักงานและโรงงาน รวมถึงเชิญชวนให้พนักงานนำขยะคัดแยกจากครัวเรือนมาร่วมบริจาคหรือแลกเป็นสิ่งของ ก่อนนำไปจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อเพื่อเป็นขยะนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยมีเป้าหมายเชิญชวนให้พนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในสำนักงานซึ่งมีส่วนช่วยในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจก โดยใช้หลักการณ์ 5 R ได้แก่   Reduce (ลดปริมาณขยะ) Reuse (นำมาใช้ซ้ำ)Repair (ซ่อมแซมสิ่งของให้สามารถใช้งานต่อได้) Reject (หลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะอย่างเหมาะสม อาทิ กิจกรรมประกวดเพ้นท์ถุงผ้าและเชิญชวนพนักงานใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก กิจกรรมส่งมอบปฏิทินเก่าเพื่อนำไปเป็นสื่อการสอนให้กับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น

“เปลี่ยนเศษไม้ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า”

สหโคเจน มุ่งเน้นการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนแบบครบวงจร จึงมีแนวคิดนำ “ชีวมวล” ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ได้แก่ เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด ใบอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง เป็นต้น ด้วยแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมและคืนประโยชน์ให้กับสังคม โดยรับซื้อชีวมวลจากเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มสหโคเจน บริษัทได้จัดตั้งศูนย์รับซื้อและแปรรูปชีวมวลเพื่อเป็นจุดรับซื้อชีวมวลจากเกษตรกรในท้องถิ่น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 –ปัจจุบัน

โครงการเพิ่มมูลค่าชีวมวล ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกระจายรายได้สู่ชุมชน การสร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยลดการเผาไหม้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่โล่งแจ้ง บรรเทาปัญหาภาวะหมอกควันหรือมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เป็นต้น

ในปี 2562 บริษัทรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรปริมาณรวมกว่า  232,218 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 211,897,321 บาท จากเกษตรกรรายย่อยจำนวนกว่า 2,000 ราย ปริมาณการรับซื้อชีวมวลดังกล่าวสามารถช่วยลดการเผาไหม้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยไม่มีการควบคุมในรัศมีการรับซื้อชีวมวลรอบโรงไฟฟ้าในอัตราเทียบเท่าลดการเผาไหม้ซังข้าวโพด ประมาณ 64,200 ไร่ และเทียบเท่าลดการเผาใหม้ใบอ้อย ประมาณ 14,600 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการรณรงค์หยุดเผาพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้บริษัทฯ ร่วมส่งเสริมให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการเผาทิ้งโดยไม่มีการควบคุม

กลุ่มสหโคเจนให้ความสำคัญในความรับผิดชอบต่อสังคมด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงานขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารและพนักงานประกอบด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการการจัดการด้านพลังงาน การจัดทำรายงานการอนุรักษ์พลังงาน การศึกษาดูงาน กิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงาน เช่น Energy Day การประกวดภาพถ่ายพลังงาน การประกวดคำขวัญลดใช้พลังงาน กิจกรรมลดใช้พลังงานในสำนักงาน เป็นต้น

ปี 2562 บริษัทดำเนินกิจกรรมและทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกพื้นที่ปฎิบัติงานโดยผ่านการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับ สามารถช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

  • โครงการบำรุงรักษา Steam Trap ในระบบจำหน่ายไอน้ำ

ลักษณะโครงการ: เปลี่ยนอุปกรณ์ Steam Trap ที่ทำงานผิดปกติ เพื่อลดความสูญเสียของไอน้ำในระบบจำหน่ายไอน้ำ

สถานที่ดำเนินงาน:โรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี)

  • ชื่อโครงการ: เปลี่ยนหลอดไฟลดใช้ไฟฟ้า

ลักษณะโครงการ: เปลี่ยนหลอดไฟโซเดียมขนาด 250 วัตต์ จำนวน 32 หลอด เป็นหลอด LED ขนาด 200 วัตต์ จำนวน 9 หลอดทดแทน บริเวณอาคารเก็บเชื้อเพลิง และอาคาร Turbine ผลิตไฟฟ้า

สถานที่ดำเนินโครงการ: บริษัท สหกรี ฟอเรสท์ จำกัด

  • ชื่อโครงการ: มาตรการลดการรั่วไหลของไอน้ำในระบบท่อส่งจ่ายไอน้ำ

ลักษณะโครงการ: เปลี่ยนอุปกรณ์ Steam Trap ที่ทำงานผิดปกติ เพื่อลดความสูญเสียของไอน้ำภายในโรงไฟฟ้าบริเวณ ท่อไอน้ำ Super Heater 1

สถานที่ดำเนินโครงการ: บริษัท สหกรี ฟอเรสท์ จำกัด

  • ชื่อโครงการ: มาตรการลดปริมาณไอน้ำแรงดัน (Steam LP) เพื่อใช้ในการอุ่นน้ำในถังดีแอร์เรเตอร์

ลักษณะโครงการ: ลดอุณหภูมิน้ำจากปกติ 120 °C ลดลงเหลือ 110 °C ในถังดีแอร์เรเตอร์ ช่วยประหยัดพลังงานจาก การลดปริมาณแรงดันไอน้ำ

สถานที่ดำเนินโครงการ: บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด

  • โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ Steam Turbine

ลักษณะโครงการ: ปรับปรุงประสิทธิภาพ Steam Turbine โดยการลดความดันในคอนเดนเซอร์ ทำให้ลดปริมาณการใช้ไอน้ำต่อหน่วยการผลิตกระแสไฟฟ้า

สถานที่ดำเนินการ: โรงไฟฟ้าชีวมวล สหโคเจน กรีน

  • โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power)

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar  Power) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในสำนักงาน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงจอดรถของ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน)  มีเป้าหมายโครงการเพื่อช่วยประหยัดค่าค่าไฟฟ้าในสำนักงาน และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551-ปัจจุบัน

พันธกิจหนึ่งของกลุ่มสหโคเจน คือการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อแสดงเจตนารมย์และความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน“สิ่งแวดล้อมดี สังคมได้รับประโยชน์” ด้วยการตั้งเป้าหมายการช่วยลดภาวะโลกร้อนจากกระบวนการผลิตพลังงาน โครงการไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน กิจกรรมปลูกป่า การพัฒนาด้านพลังงานทดแทน และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนในการช่วยลดภาวะเรือนกระจก

  • โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Cogeneration Combined Cycle)

การผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำด้วยระบบพลังความร้อนร่วม (Cogeneration Combined Cycle) ของโรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละมากกว่า 100,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (ปี 2562 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 281,740 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี)

  • ธุรกิจชีวมวล

โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด จังหวัดลำพูน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ( Cogeneration Power plant) จากพลังงานหมุนเวียน ประเภทชีวมวล เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละมากกว่า 50,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี  (ปี 2562 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 51,416 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี)

  • โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(Clean Development Mechanism:CDM)

กลไกการพัฒนาที่สะอาดของโรงไฟฟ้าสหกรีน ฟอเรสท์ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change:UNFCCC) เมื่อปี 2557-ปัจจุบัน โครงการนี้เป็นการนำเศษเหลือใช้ทางการเกษตร หรือชีวมวล มาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละมากกว่า 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (ปี 2562 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 29,699 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี)

  • โครงการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน

ต้นไม้จากโครงการลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงานของบริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด ช่วยสร้างแหล่งเชื้อเพลิงสำรองที่ยั่งยืน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละมากกว่า 10,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (ในปี 2562 ต้นไม้จากโครงการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 150,550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี)

ในปี 2562 การดำเนินธุรกิจของกลุ่มสหโคเจนมีผลรวมการช่วยลดภาวะเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ประมาณ 531,405 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  และสถิติข้อมูลย้อนหลังในระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่เริ่มกิจการ มีผลรวมการช่วยลดภาวะเรือนกระจกรวม 3,827,029 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

  • โครงการไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน

โครงการ ไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน”  เป็นการดำเนินการปลูกไม้โตเร็วประเภทต่างๆ อาทิ กระถินเทพา กระถินยักษ์ กระถินณรงค์ กระถินเทพณรงค์  ยูคาลิปตัส มะฮอกกานี  จามจุรี เป็นต้น โดยมีการปลูกและตัดหมุนเวียนตามรอบตัดฟันของอายุไม้ในช่วง 2-5 ปี ทั้งนี้เพื่อสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนของธุรกิจพลังงานทดแทนในกลุ่มสหโคเจน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกไม้โตเร็วอายุ 1-5 ปี สะสมรวม 5,192 ไร่ ในเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง แบ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท จำนวน 3,852 ไร่  พื้นที่เช่า จำนวน 545 ไร่  พื้นที่ร่วมทุน จำนวน 395 ไร่ และพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกร จำนวน 400 ไร่ ต้นไม้ที่ปลูกในโครงการจำนวน 1,558,756 ต้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นจำนวนรวมกว่า 200 คนต่อปี และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาทต่อปี

กลุ่มสหโคเจนให้การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ของบริษัท แจกจ่ายให้กับชุมชน วัด โรงเรียน หน่วยงาน และผู้สนใจ เพื่อปลูกในพื้นที่สาธารณะ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน ประกอบด้วยชนิดพันธุ์ต้นไม้ที่หลากหลาย ได้แก่พันธุ์ไม้ป่าหายาก ไม้ประจำท้องถิ่น ไม้ประดับ ไม้เศรษฐกิจ และไม้เอนกประสงค์ เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน โดยมีสถิติสะสมการแจกกล้าพันธุ์ไม้ รวมกว่า 60,000 ต้น ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวกว่า 300 ไร่

                ในปี 2562 บริษัทมอบกล้าพันธุ์ไม้จำนวนกว่า 2,000 ต้น เพื่อสนับสนุนและเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวของหน่วยงานและชุมชน  อาทิ

  • โครงการรักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมเครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดลำพูน
  • โครงการปลูกป่าเขาเขียว โครงการคลองสวยน้ำใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จังหวัดกำแพงเพชร

โครงการประชารัฐรวมใจ ปลูกไผ่เพื่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการประชารัฐปลูกไผ่คืนผืนป่าสร้างอาชีพ  โครงการคืนไผ่สู่ผืนป่า เพื่อพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูต้นน้ำ จังหวัดลำปาง